อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้จัดทำ เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติไว้เพื่อให้ประชาชนที่สนใจเดินศึกษาธรรมชาติตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ส่วนหนึ่งเป็นเส้นทางที่ใช้เดินทางเข้าไปดับไฟป่า ซึ่งปกติแล้วเกิดเป็นประจำทุกปี และเป็นเส้นทางที่ใช้จัดกิจกรรมตะนาวศรีเทรล เพื่อเป็น “ทางวิ่ง ทางกันไฟ ทางเดียวกัน” การเข้าใช้เส้นทางเป็นประจำจะทำให้เกิดผลพลอยได้คือเส้นทางถูกบูรณะอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลผู้ใช้เส้นทาง เพื่อทราบสถานะของผู้ใช้เส้นทาง และเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้เส้นทาง อุทยานฯ จึงได้ร่วมกับตะนาวศรีเทรล จัดทำเว็บไซต์ให้ข้อมูลเส้นทางศึกษาธรรมชาติเทือกเขาตะนาวศรี และลงทะเบียนการใช้เส้นทางนี้ขึ้นมา
ชื่อเต็ม โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดําริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อําเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
อยู่ในพื้นที่อําเภอสวนผึ้ง ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุในความดูแลของกองทัพบก ครอบคลุมพื้นที่ 2 ตําบล คือ ตําบลสวนผึ้งและตำบลตะนาวศรี มีจํานวน 4 หมู่บ้าน พื้นที่โครงการประมาณ 132,905 ไร่ ลักษณะป่าเป็นบริเวณที่ได้รับการฟื้นฟูสภาพป่าบนพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแร่มาก่อน โดยต้นไม้มีการเจริญเติบโตดีและกำลังพัฒนาโครงสร้างของสังคมพืชอยู่ในช่วงป่ารุ่นที่สอง ซึ่งการพัฒนาจะใช้เวลาเพื่อพัฒนาเป็นป่าสมบูรณ์ต่อไป
มีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สํานักพระราชวัง และกองพลพัฒนาที่ 1
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดําริให้ใช้เป็นสถานที่สําหรับศึกษาธรรมชาติจากความหลากหลายของพืชพันธุ์ตามธรรมชาติและสัตว์นานาชนิดที่มีอยู่ในพื้นที่อําเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมในการจัดทําเป็นโครงการในลักษณะโรงมหรสพทางธรรมชาติ ภายในอุทยานฯ มี ศาลาข้อมูลธรรมชาติวิทยา รวบรวมข้อมูลทั่วไปของอุทยานธรรมชาติวิทยา สังคมศาสตร์ กายภาพและทางชีวภาพโดยจัดแสดงในรูปแบบของนิทรรศการ สิ่งตีพิมพ์ วีดีทัศน์ และมี ห้องสมุด ที่สามารถค้นหาข้อมูลทางสิ่งแวดล้อมได้ และยังมีร้านจำหน่ายของที่ระลึก หนังสือ โปสการ์ดเกี่ยวกับอุทยานธรรมชาติวิทยาและหนังสือพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตลอดจนผลิตภัณฑ์ในโครงการส่งเสริมอาชีพตามพระราชดำริด้วย
ทางอุทยานฯ มีบ้านพักไว้ให้สำหรับนักวิชาการและเยาวชนที่เข้าค่ายสิ่งแวดล้อมศึกษา จำนวน 3 หลัง พักได้ 2-30 คน มีเต็นท์ให้เช่า พักได้ 2 คน หรือนักท่องเที่ยวสามารถนำเต็นท์มาเองได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 06 5619 9918
1.Loop A – JUST SLOPE (ก็แค่เนิน)
เริ่มจากร้านมองท์ ลันดา อุทยานธรรมชาติวิทยา ใช้เส้นทางเนินรับน้อง มุ่งหน้าไปยังบ้านห้วยน้ำขาว (มีน้ำและอาหารจำหน่าย) จากนั้นใช้เส้นทางเนินอนันต์มายังน้ำตกเก้าโจนลัดเลาะน้ำตกมาลงธารน้ำร้อนบ่อคลึง แล้วจึงวนกลับมายังร้านมองท์ ลันดา ระยะทาง 12.6 กม. ความสูงสะสม 752 เมตร ใช้เวลาการเดิน 3-5 ชั่วโมง
2.Loop B – COT (ไม่ไหว ไปไม่ทัน)
เริ่มจากร้านมองท์ ลันดา อุทยานธรรมชาติวิทยา ใช้เส้นทางเนินรับน้อง มุ่งหน้าไปยังบ้านห้วยน้ำขาว (มีน้ำและอาหารจำหน่าย) จากนั้นไต่ขึ้นยอดเขาแหลม แล้วตัดลงมายังหุบลันดา ต้นผึ้ง ตัดลงน้ำตกเก้าโจน ลัดเลาะตามทางมายังธารน้ำร้อนบ่อคลึง แล้ววกกลับมายังร้านมองท์ ลันดา ระยะทาง 18.3 กม. ความสูงสะสม 1,297 เมตร ใช้เวลาการเดิน 4-10 ชั่วโมง
3.Loop C – ORDINARY ROUTE (เส้นทางสายสามัญ)
เริ่มจากร้านมองท์ ลันดา อุทยานธรรมชาติวิทยา ใช้เส้นทางเนินรับน้อง มุ่งหน้าไปยังบ้านห้วยน้ำขาว (มีน้ำและอาหารจำหน่าย) จากนั้นไต่ขึ้นยอดเขาแหลม แล้วตัดลงมายังหุบลันดา ไต่ขึ้นเขาเขียว ลงมายังธารน้ำร้อนบ่อคลึง แล้ววกกลับมายังร้านมองท์ ลันดา ระยะทาง 18.7 กม. ความสูงสะสม 1,448 เมตร ใช้เวลาการเดิน 4-10 ชั่วโมง
4.Loop D – V SHAPE (คุยกับรากไม้)
เริ่มจากบ้านห้วยน้ำขาว ใช้เส้นทางถนนไปยังสำนักสงฆ์ผาปก แล้วมุ่งหน้าขึ้นไปจุดกลับใจ จากนั้นแยกออกจากทางหลัก มุ่งสู่น้ำตกผาปก ลัดเลาะตามทางเหมืองเก่า ขึ้นเขาแหลมน้อย ก่อนตัดกลับมาจบที่บ้านห้วยน้ำขาว ระยะทาง 16.4 กม. ความสูงสะสม 1,135 เมตร ใช้เวลาการเดิน 4-6 ชั่วโมง
1.ล็อคอิน www.runningconnect.com
2.สแกน QR ที่จุดเริ่มต้น
3.เลือก Loop เส้นทาง
4.เริ่มเดิน/วิ่ง
5.สแกน QR ที่จุด Check Point
6.สแกน QR ที่จุดสิ้นสุด
1. เตรียมพร้อมสภาพร่างกาย
ตรวจสอบสภาพร่างกายให้พร้อมก่อนเริ่ม และเลือกเส้นทางที่เหมาะสมตามประสบการณ์และผู้ร่วมเดินทาง
2. วางแผนเส้นทาง
จำเป็นต้องวางแผนเส้นทางให้ถูกต้อง ไม่เพียงแค่คำนึงถึงระยะทางเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงระดับความสูงชันของเส้นทางด้วย ควรใช้อุปกรณ์นำทาง
3. อุปกรณ์
เตรียมอุปกรณ์ให้เหมาะสม ควรสวมรองเท้าเดินป่าแบบกันลื่น ควรมีไฟฉายหรือไฟคาดศีรษะ นกหวีด โทรศัพท์ น้ำดื่มและอาหารให้เพียงพอ รวมถึงเตรียมชุดปฐมพยาบาล (สำหรับกรณีฉุกเฉินด้วย) และในบางฤดูกาลอาจจำเป็นต้องเตรียมเสื้อกันฝน และอุปกรณ์ป้องกันความหนาวเย็นไปด้วย
4. สภาพอากาศ
ควรตรวจสอบสภาพอากาศและการพยากรณ์อากาศก่อนเดินทาง
5. ลงทะเบียนการใช้เส้นทาง
แจ้งแผนการใช้เส้นทางแก่อุทยานธรรมชาติวิทยา เจ้าของพื้นที่ โดยการลงทะเบียนก่อนเริ่ม – ระหว่างผ่านจุดเช็คพอยต์ และเมื่อออกจากพื้นที่
6. เวลาที่เหมาะสม
เริ่มต้นใช้เส้นทางแต่เช้า เพื่อจะกลับออกมาจากเส้นทางได้ก่อนมืด
7. เพื่อนร่วมทาง
ไม่ควรเข้าใช้เส้นทางแต่เพียงลำพัง ตรวจสอบสภาพความพร้อมของเพื่อนร่วมเดินทางก่อนเสมอ และเลือกเส้นทางจากผู้ที่อ่อนประสบการณ์ที่สุด
8. การวิ่งหรือเร่งความเร็ว
ใช้ความเร็วในการเดินหรือวิ่งที่เหมาะสมตามสภาพร่างกาย
9. อย่าออกนอกเส้นทาง
10. รักษาสิ่งแวดล้อม
ไม่ทิ้งขยะในเส้นทางโดยเด็ดขาด และช่วยเก็บเศษขยะที่พบเห็นออกมาทิ้งในถังขยะ